ต้นเหตุจาก PM2.5 สามี อาจารย์ มช. ป่วยมะเร็งปอดเสียชีวิต เผยผลตรวจเนื้อเยื่อ ฝุ่นพิษทำให้ยีนส์กลายพันธุ์ หวังรัฐบาลใส่ใจการแก้ปัญหา ลดความรุนแรงให้ได้
หลัง ผศ.ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี สำนักวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก “รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด ในรอบ 2 ปี
มีนาคม 2565 . รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กันยายน 2566 . รศ.ดร.มงคล รายะนาคร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่านเป็นอดีตคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ท่านริเริ่มศึกษาฝุ่นพิษมาตั้งแต่ปี 2550 ที่ยังไม่มีใครรู้จัก PM2.5 ในชื่อโครงการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เพื่อหามลพิษทางอากาศในอนุภาคฝุ่นในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ทุนวิจัยจาก สกว.
ธันวาคม 2566 .. นพ.กฤตไท ธนกฤตสมบัติ อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมษายน 2567 .. ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยังต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไร จึงจะแก้ปัญหาการเผาและ PM2.5 ????”
“รายนามคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งปอด
- พิษฝุ่นเชียงใหม่ เปิดรายชื่อ อาจารย์ มช. มะเร็งปอด คร่าชีวิต ผลกระทบ PM2.5
- เชียงใหม่ ออกประกาศ เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย อากาศยังแย่ ที่ 1 โลก
ต่อเรื่องดังกล่าว นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ และที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับการเสียชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพบว่าเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 4 ราย
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยที่ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ ซึ่งปกติจะมีสัดส่วนที่น้อย แต่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.เชียงใหม่ กลับพบผู้ป่วยโรคมะเร็งมีสัดส่วนที่สูงมากกว่าที่อื่น
จากการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศพบว่าการมาอยู่ในพื้นที่ ที่มี PM 2.5 ในระดับที่ไม่ปลอดภัยเป็นระยะเวลานานมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ทำให้มีโอกาสที่เกิดมะเร็งปอดสูงขึ้นอย่างมากเป็นระยะเวลา 2-3 ปีก็มีความเสี่ยงแล้ว
ซึ่งไม่ใช้เป็นการได้รับผลกระทบระยะสั้นหรือแค่แสบตา ตาแดง แสบจมูก หากเป็นการสะสมของพิษ และส่งผลกระทบกับสุขภาพอย่างรุนแรงทั้งโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นเรื่องซึ่งมันไม่ได้เกิดช่วงที่หมอกควันปกคลุมแต่เป็นการสะสมของพิษระยะยาว
ขณะที่ ที่วัดสวนดอกพระอารามหลวง ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ศ.ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นายจิตรกร โอฬารรัตน์มณี สามีของ ศ.ดร.ระวิวรรณ เปิดเผยว่า ภรรยาเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ตอนแรกคิดว่าภรรยาป่วยเป็นลองโควิด แต่ช่วงหนึ่งมีอาการไอ และมีเลือดออกมา จึงตัดสินใจตรวจสุขภาพที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะที่ 4
หลังจากนั้นทางแพทย์เจ้าของไข้ จึงวางแนวทางในการรักษา เริ่มจากการหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งว่ามะเร็งปอดตัวนี้มันเกิดจากอะไร โดยการนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ พบว่าเป็นผลจาก PM 2.5 ทำให้เกิดยีนส์กลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งยีนส์กลายพันธุ์ตัวนี้มักเกิดกับผู้หญิงเอเชีย
อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงรัฐบาลว่าจริงๆเราพบปัญหา PM 2.5 มานานแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดผลกระทบกับเราอย่างชัดเจนเราจึงไม่ให้ความสำคัญกับเรา แต่เมื่อวันหนึ่งถ้าคนในครอบครัว หรือตัวเราเองป่วยเป็นมะเร็งปอด เราจะรู้ทันทีว่า PM 2.5 มันเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงมาก
อยากให้กรณีของ อ.ระวิวรรณ เป็นกรณีศึกษาว่า หลังจากนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าใส่ใจในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดมันอาจไม่ทำให้ปัญหาหมอกควันหายไปแต่หวังว่าให้ลดความรุนแรงลงได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
นายจิตรกรกล่าวเพิ่มเติมว่า ครอบครัวจะมอบร่าง อ.ระวิวรรณ ให้คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อไปตามที่ อ.ระวิวรรณ เคยตั้งใจไว้