เจ้าหน้าที่สุดปลื้ม “แม่ศรีสยาม” เต่ากระขึ้นวางไข่บนเกาะทะลุ รังที่ 9 ของปี ทำคอกล้อมป้องกันภัยคุกคามทางธรรมชาติ ดูแลความปลอดภัยสูงสุด
เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อ่าวสยามสุดปลื้ม พบ “แม่ศรีสยาม” เต่ากระขึ้นวางไข่บนเกาะทะลุ รังที่ 9 ของปี ทำคอกล้อมป้องกันภัยคุกคามทางธรรมชาติบริเวณรังไข่เต่า เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของไข่เต่า จัดกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อเฝ้าจับตาตลอด 24 ชั่วโมง


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผย 24 มิถุนายน 2568 นายเอกฤทธิ์ ดวงมาลา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) เปิดเผยถึงข่าวดีด้านการอนุรักษ์ เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อ่าวสยาม ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ได้ลาดตระเวนบนเกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบกับเหตุการณ์สุดประทับใจ นั่นคือการขึ้นมาวางไข่ของ แม่เต่ากระ เมื่อเวลา 23.30 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน 2568 ที่บริเวณอ่าวมุข

แม่เต่าตัวดังกล่าวจากการตรวจไมโครชิพมีชื่อว่า “แม่ศรีสยาม” มีหมายเลขไมโครชิพ 933.076400502185 ซึ่งนับเป็น รังที่ 9 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่พบในพื้นที่นี้ แม้จุดที่แม่เต่าขึ้นวางไข่ (พิกัด 47 P 0561135 E 1224703 N) จะอยู่นอกเขตพื้นที่รับผิดชอบโดยตรงของอุทยานฯ อ่าวสยาม แต่เจ้าหน้าที่ได้เร่งเข้าดำเนินการดูแลทันทีด้วยความห่วงใย

จากการสำรวจอย่างละเอียดพบว่า แม่ศรีสยามใช้ระยะทาง 22 เมตร ในการคลานขึ้นจากทะเลมาถึงจุดวางไข่ และอีก 26 เมตร เพื่อคลานกลับลงสู่ทะเล รอยช่วงอกของแม่เต่ากว้างถึง 74 เซนติเมตร ส่วนกระดองมีความกว้าง 91 เซนติเมตร และยาว 79 เซนติเมตร ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์ของแม่เต่าตัวนี้

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของไข่เต่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการทำคอกล้อมป้องกันภัยคุกคามทางธรรมชาติบริเวณรังไข่ โดยมีมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามเป็นผู้ดูแลหลัก และนายเอกฤทธิ์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเฝ้าระวัง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เฝ้าระวังและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

การค้นพบและดูแลแม่เต่ากระในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย และสอดคล้องกับภารกิจหลักของ มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะการดูแลสัตว์ทะเลหายาก เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจภัยคุกคามที่เกิดขึ้น การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนนี้เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยให้ยั่งยืนสืบไป
