วันที่ 8 เมษายน 2567 มีรายงานว่า นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามในประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องข้อแนะนำแนวทางมาตรการป้องกันและลดผลกระทบกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง โดยประกาศระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตามสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 4-8 เม.ย.67 ตลอด 24 ชั่วโมง มีค่าเกินค่ามาตรฐาน (อยู่ระหว่าง 84.1 – 224.3 มคก/ลบ.ม) อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมการ ป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
1 ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งนำระบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มาใช้โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน และใช้ช่องทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางในการปฏิบัติงาน
2 ขอความร่วมมือสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านอาหารพิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศเป็นอันดับแรก เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
3 ขอความร่วมมือให้บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ พิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการของบริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ เพื่อลดการออกนอกเคหสถาน
4 ขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยว ปรับลดกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐาน และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ทุกครั้ง
5 ขอความร่วมมือกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว) ลดหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน
6 ให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณาเปิดบริการห้องลดฝุ่นให้แก่ประชาชน
7 ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีการเรียนการสอน และไม่มีห้องลดฝุ่น พิจารณาหยุดการเรียนการสอน
8 ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนสาธารณะในความดูแล พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 – 11 เมษายน 2567 และจังหวัดเชียงใหม่จะได้ติดตามสถานการณ์ และออกประกาศให้ประชาชนทราบ ในโอกาสต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังได้ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า ในอีก 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่อาย และอำเภอเวียงแหง เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในเขตพื้นที่ประสบภัย