เรียกว่าเป็นประเด็นที่ถูกวิพากวิจารณ์ในช่วงที่ผ่านมา จากกรณี นายชัยยศ สุขต้อ ครูชำนาญการพิเศษ (คศ.3) โรงเรียนยางเปา อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ซึ่งถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 มีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำความผิด ฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
สืบเนื่องจาก ครูชัยยศ เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุอาหารกลางวันนักเรียน ที่อดีตผู้บริหารสถานศึกษาฯ ระบุว่าเป็นการบริหารจัดการอาหารกลางวันเด็ก จากเด็กอนุบาลและประถมศึกษา ให้เด็กระดับมัธยมศึกษาได้กินด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นนักเรียนกินนอน ครอบครัวยากจน แต่ภาครัฐได้จัดงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้เฉพาะเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาเท่านั้น ทางโรงเรียนจึงได้มีการบริหารจัดการงบประมาณ และจัดซื้อวัตถุดิบอาหารกลางวัน เพื่อให้เด็กนักเรียนกินนอนที่เรียนชั้น ม.ต้น ด้วยภาวะงบประมาณที่มีจำกัด จนเป็นมูลเหตุให้ผู้ปกครองนักเรียนบางคนไม่พอใจ และร้องเรียนกับ ป.ป.ช.
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจัดซื้ออาหารกลางวัน เด็กนักเรียนโรงเรียนยางเปา มาตั้งแต่ปี 2562 จำนวน 4 คน ป.ป.ช.ชี้ความผิดและถูกปลดออกไปแล้ว มี ผอ.และครูอีก 2 คน ที่มีครูชัยยศ รวมอยู่ด้วย ส่วนครูอีกคนหนึ่งย้ายไปอยู่พื้นที่ สพป.4 อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาความผิด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก วันนั้นเมื่อฉันสอน ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.6 แสนคน ได้โพสต์เรื่องราวของ ครูชัยยศ โดยระบุว่า “จบแล้วนะครับ กับกรณีครูที่ตรวจรับอาหารกลางวัน แม้ลูกศิษย์ที่เคยเรียนจะยื่นทัดทานอย่างไร แต่ผลสุดท้ายลงเอยโดยการถูก “ปลดออกจากราชการ”
ทางเพจ วันนั้นเมื่อฉันสอน ติดตามกรณีครูทำอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสเลี้ยงเด็กบนดอยซึ่งงบประมาณครอบคลุมแค่ ป.6 แต่นำไปเลี้ยงจนถึง ม.3 คำว่าโรงเรียนขยายโอกาส คือ โรงเรียนที่เด็กไม่มีทางเลือก ยากจนและขาดโอกาส ทำให้คนเป็นครูอดไม่ได้ที่จะเห็นลูกศิษย์ทนหิวคนหนึ่งกินอีกคนไม่ได้กิน ไม่มีนิยามใดบนโลกที่บอกว่าเมื่อขึ้น ม.1 ความยากจนจะหมดพ้นไป จึงต้องกระทำไปแบบนั้น
งบเท่าเดิมคนมากขึ้นย่อมกระทบต่อปริมาณและคุณภาพเป็นมูลเหตุให้ผู้ปกครองบางคนไม่พอใจและร้องเรียน แทนที่จะชื่นชมว่างบประมาณเท่านี้แต่สามารถเลี้ยงคนได้มากกว่าที่ให้ กลับหาทางเล่นงาน
ครูชัยยศเองมีชื่อเป็นกรรมการตรวจรับ ซึ่งยอมรับว่าไม่ได้มีความรอบคอบมากพอโดนหางเลขไปด้วยเนื่องจากมีการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบ ผลสุดท้ายไม่ว่าจะทำคุณงามความดีมาขนาดไหน ได้รางวัลอะไรส่งนักเรียนเรียนต่อถึงปริญญาตรี อุทิศเวลาทั้งชีวิตเพื่อสั่งสอนเด็ก แต่เส้นทางราชการก็ต้องสิ้นสุดลง ไม่มีใครช่วยเหลือได้ ไม่มีอะไรปกป้อง
ผมขอคุยกับครูชัยยศแต่เจ้าตัวเหมือนรับสภาพไปแล้ว สูญสิ้นศรัทธาต่อความดีงามไม่อยากที่จะคุยกับผม จนกระทั่งเย็นแกจึงยอมเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์
ผู้ชายคนหนึ่งที่ใช้เงินตัวเองส่งเสียลูกศิษย์บ่มเพาะและสั่งสอนจนเรียนจบได้ดีมีการมีงาน มั่นใจอย่างแน่แท้ว่าเขาไม่ได้มีผลประโยชน์จากอาหารกลางวันนี้ แต่ต้องมาจบเส้นทางราชการลง เพราะมีชื่อเป็นกรรมการตรวจรับทั้งที่เขาไม่เคยได้รับผลประโยชน์อันใดจากมัน
ด้วยคำตัดสินที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีสถานอื่นใดนอกจากออกจากราชการเท่านั้น ครูชัยยศยอมรับว่าไม่ได้มีความรู้มากมายในเรื่องพัสดุ เพราะตนเป็นครูผู้สอน แต่ความผิดที่ได้รับนั้นตนไม่ได้ประโยชน์แต่กับลงทัณฑ์อย่างสาหัส ไม่มีรอมชอม และถูกตราหน้าว่าผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คนที่ไม่เคยได้ประโยชน์อันใดจากสิ่งที่ทำกลายเป็นคน “ทุจริต”
ใครที่ผ่านไปทางอมก๋อยก็ฝากอุดหนุนโรตีของครูเขาด้วยนะครับ เพราะนั่นคืออาชีพเดียวที่เขาหลงเหลืออยู่ ชายที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อนักเรียนหมดสิ้นแล้วทุกสิ่ง
เรื่องนี้อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนเห็นว่าในโรงเรียนขยายโอกาส ถ้าโรงเรียนบริหารจัดการได้ก็ควรให้เลี้ยงได้ถึง ม.3 เลย หรือจะให้ดีก็ควรมีงบประมาณมาเพิ่ม
ความยุติธรรมที่มาช้าคือ ความอุยติธรรม บางทีผมก็สงสัยนะว่า ทำไมครูไทยต้องมาทำอะไรแบบนี้ เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่งยังเอากระดูกมาแขวนคอ เมื่อไหร่จะให้ครูได้ต่อสู้แค่กับความไม่รู้ของนักเรียนเพียงอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่กระทำต่อครูโดยระบบการศึกษา ครูไม่ได้ประโยชน์จากการตรวจรับแต่เวลาลงทัณฑ์ ประหัตประหารกันถึงขีดสุด
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้กับครูรุ่นใหม่ว่าหากไม่อยากออกจากราชการและอยู่จนเกษียณอย่าไปยุ่งกับการตรวจรับ ไม่รู้อย่าเซ็น ไม่แน่ใจอย่าเซ็น ไม่ละเอียดอย่าเซ็น ผิดมาจะอ้างไม่รู้ไม่ได้ เพราะไม่มีความดีใดปกป้องคุณได้ และเรื่องนี้จะยังเป็นชะตากรรมที่ครูไทยต้องพบเจอสืบไป
หากคุณคิดว่าสิ่งที่ครูคนหนึ่งที่ทำเพื่อเด็กเหมาะสมแล้วก็เลื่อนผ่านโพสต์นี้ไปไม่ใช่เรื่องของเราซักหน่อย แต่หากคุณคิดว่ามันไม่ถูกต้องโปรดช่วยแชร์เรื่องราวนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือให้มนุษย์ผู้หนึ่งยังไม่สิ้นศรัทธาในความถูกต้องและขอให้ทบทวนเพื่อมีการเปลี่ยนแปลง”
อย่างไรก็ตาม ครูชัยยศ ได้ผันตัวไปขายโรตีหาเลี้ยงชีพที่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมัยรับราชการได้พาเด็กๆที่ยากจนไปช่วยกันขายโรตีเพื่อหาทุนการศึกษา โดยพบว่ามีทั้งลูกศิษย์และคนรู้จักทยอยไปอุดหนุน และให้กำลังใจ ครูชัยยศ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ครูชัยยศ ได้ทุ่มเทชีวิตสอนหนังสือเด็กนักเรียนพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร เด็กนักเรียนในพื้นที่ อ.อมก๋อย มานาน 26 ปี เคยได้รับรางวัลครูดีเด่นมา 10 รางวัล ซึ่งรางวัลที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2553 ได้เงินรางวัล 2 หมื่นบาท ได้นำมาซื้ออุปกรณ์เรียนรู้ศิลปะ และทำโครงการให้นักเรียน
นอกจากนี้ ขณะที่รับราชการตั้งแต่ปี 2540 ได้พานักเรียนขายของและโรตี ตามงานในอำเภออมก๋อย และหาทุนการศึกษาจากที่อื่น เพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ได้เรียนต่อ บางรายจบพยาบาล รับราชการเป็นครู และศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นรวม 42 คน
ขอบคุณ FB : วันนั้นเมื่อฉันสอน , วินัย สังขวรรณะ