สิ้นแล้ว ‘ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว’ ปราชญ์แห่งเมืองเพชรบุรี สิริอายุ88ปี

สุดอาลัย ‘ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว’ ปราชญ์แห่งเมืองเพชรบุรี เสียชีวิตแล้ว หลังมีอาการป่วยมานานหลายปี สิริอายุ 88 ปี เผยประวัติ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก รศ.สุนันท์ นีลพงษ์ นายกสมาคมกลุ่มคนรักเมืองเพชร ว่า ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว หรือ อาจารย์ล้อม อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น

อดีตคอลัมนิสต์หนังสือศิลปวัฒนธรรมในเครือมติชน และอดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี เสียชีวิตด้วยอาการสงบด้วยโรคไตที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบรี สิริอายุ 88 ปี

สุดอาลัย 'ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว' ปราชญ์แห่งเมืองเพชรบุรี เสียชีวิตแล้ว หลังมีอาการป่วยมานานหลายปี สิริอายุ 88 ปี เผยประวัติ

สุดอาลัย ‘ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว’ ปราชญ์แห่งเมืองเพชรบุรี เสียชีวิตแล้ว หลังมีอาการป่วยมานานหลายปี สิริอายุ 88 ปี เผยประวัติ

ประวัติโดยย่อศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว หรือ อาจารย์ล้อม เกิดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2479 ที่ ต.ชะมวง ปัจจุบันคือ ต.ควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรของ นายหรอด นางนวล เพ็งแก้ว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 12 คน

เมื่อแรกเกิดบิดาตั้งชื่อให้ว่า “ไข่” แต่พอไปแจ้งเกิดกับ ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม ช่วยพูนเงิน) กำนันตำบลชะมวง อ.ควนขนุน ในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “ล้อม” ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนประชาบาลตำบลชะมวง 3 อ.ควนขนุน จนจบชั้น ป.4 และเข้าศึกษาต่อในระดับประโยคมัธยมศึกษาที่โรงเรียนช่วยมิตร อ.ควนขนุน จนจบชั้น ม.6

ปี 2497 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อาจารย์ล้อมจึงไปสมัครเข้าเรียนและสามารถสอบผ่านได้เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยเรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ได้ไม่ถึง 1 เดือนก็ถูกคัดให้ไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ตั้งอยู่หลังกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จนเรียนจบหลักสูตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ในปี 2500

จากนั้นได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ขณะเรียนอยู่นั้นอาจารย์ล้อมยังได้เขียนกลอนลงตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร และ สกุลไทย อีกด้วย

อาจารย์ล้อม เรียนอยู่ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนสำเร็จหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) สาขามัธยมศึกษา เมื่อต้นปี 2504 ในปีเดียวกันนั้นได้รับการคัดเลือกเป็นอาจารย์ตรีประจำกรม ตามคำสั่งที่ กฝ, 83/2504

และกรมฯมีคำสั่งให้มาทดลองปฏิบัติราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรีที่ โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี ตั้งอยู่บริเวณวัดเกตุ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ปัจจุบันคือวิทยาลัยเทคนิคเพชรบุรี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2504 โดยทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาไทย

อาจารย์ล้อม พบรักกับ ผศ.เบ็ญจา เพ็งแก้ว และแต่งงานมีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน คือ น.ส.กมลพรรณ (ใหญ่), น.ส.พรรณประไพ (เล็ก), น.ส.นิพัทธ์พร (เอียด), น.ส.ก่องแก้ว (แก้ว), น.ส.กนิษฐา (ก้อย), นายขับพล (ก้อง) และ น.ส.รจน์ (กิ่ง) เพ็งแก้ว

ต่อมาในปี 2511 กรมการฝึกหัดครูได้เปิดสาขาวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่ต่างจังหวัด อาจารย์ล้อมได้รับคำสั่งจากจังหวัดเพชรบุรี (ขณะนั้นโรงเรียนฝึกหัดครูยังขึ้นกับจังหวัด) ให้ไปช่วยราชการที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม จ.มหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2511

ซึ่งอาจารย์ล้อมถือเป็นรุ่นบุกเบิกมีส่วนสำคัญในการดูแลงานด้านการวางผังมหาวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ทั้งด้านสิ่งก่อสร้าง ด้านอาคารสถานที่ได้อย่างเข้มแข็ง

รวมถึงบุกเบิกการเรียนการสอนภาษาไทยตั้งแต่ปีแรกของการก่อตั้งวิทยาลัย โดยทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนและหัวหน้าภาควิชา จนสามารถเปิดสอนวิชาเอกภาษาไทยหลักสูตรการศึกษาบัณฑิตสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โดยอาจารย์ล้อมอยู่ช่วยงานด้านบริหารและด้านวิชาการที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาแห่งนี้นานถึง 5 ปี กระทั่งในปี 2516 ได้ย้ายกลับมาต้นสังกัดเดิมที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี (ซึ่งย้ายจากวัดเกตุมาตั้งอยู่ที่ ต.นาวุ้ง อ.เมืองเพชรบุรี พ.ศ. 2506)

ในปี 2518 ทางราชการปรับข้าราชการพลเรือนเป็นระบบซี อาจารย์ล้อมได้ทำผลงานเสนอคุรุสภาได้ปรับเป็นอาจารย์ 3 ระดับ 7 และได้ปรับเป็นระดับ 8 โดยอัตโนมัติเพราะขั้นเงินเดือนสูงถึง

ต่อมาอาจารย์ล้อมได้เสนอผลงานทางวิชาการเพื่อขอปรับตำแหน่งเป็นระดับ 9 ตามสิทธิ์ และกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ระดับ 9 เป็นคนแรกของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2529 ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 9 ที่มีอายุน้อยที่สุดของกรมฯ ในขณะนั้นอีกด้วย

อาจารย์ล้อมนอกจากจะเป็นครูถ่ายทอดวิชาภาษาไทยให้แก่ศิษย์ในสถาบันแล้ว ยามว่างเว้นจากงานราชการท่านยังลงพื้นที่ไปหาผู้รู้ตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และเรียนรู้งานศิลปวัฒนธรรมตามวัดวาอาราม พร้อมนำสิ่งที่รู้มานำเสนอในรูปแบบของการเขียนลงใน “หนังสือพิมพ์สาส์นเพชร” ที่มี นายชลอ ช่วยบำรุง เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ

มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่อาจารย์ล้อมรักษาราชการแทนอธิการฯ ได้สั่งให้นำรถของวิทยาลัยครูไปราชการที่จังหวัดนครปฐม และรถเกิดความเสียหาย อาจารย์ล้อมจึงถูก นายจรูญ มิลินทร์ อธิบดีกรมการฝึกหัดครูในขณะนั้น กล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลเสียหายแก่ราชการ

โดยกรมฯได้สั่งให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4 พันกว่าบาท แต่อาจารย์ล้อมไม่ยอมจ่าย พร้อมท้าให้นายจรูญไปฟ้องศาลเอาเอง จากนั้นอาจารย์ล้อมได้เดินทางมาพบ นายปรุง สุนทรวาทะ ทนายความและเจ้าของหนังสือพิมพ์เพชรภูมิ เพื่อปรึกษาเรื่องคดีความ

โดยนายปรุงรับว่าความให้จนชนะคดี ศาลยกฟ้องและสั่งให้กรมฯจ่ายค่าทนายให้อาจารย์ล้อมอีกด้วย หลังจากเสร็จสิ้นคดีความแล้วนายปรุงก็ได้เชิญอาจารย์ล้อมเข้ามาเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์เพชรภูมินับแต่นั้นมา

ต่อมาในปี 2529 ขณะนั้น นายเชาวน์วัศ สุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้สั่งให้ทุบทำลายปูนปั้นซึ่งเป็นรูป พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ถูกเด็กเล็กคนหนึ่งบนหัวถักแกละกำลังเอากำปั้นข้างหนึ่งตะบันหน้าเข้าไปอย่างจัง

เป็นภาพปูนปั้นที่นายทองร่วง เอมโอษฐ (ปัจจุบันเป็นศิลปินแห่งชาติ) ได้ปั้นล้อเลียนการเมืองไว้ที่บริเวณฐานเสมาของอุโบสถวัดสนามพราหมณ์ ต.ท่าราบ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และอาจารย์ล้อมได้ออกมาคัดค้านพร้อมว่ากลอนของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ว่า

“ใครดูถูกดูหมิ่นศิลปะ อนารยะไร้สกุลสถุลสัตว์ ราวลิงค่างเสือสางกลางป่าชัฏ ใจมืดจัดกว่าน้ำหมึกดำ เพียงกินนอนสืบพันธุ์เท่านั้นฤๅ ชื่อว่าสิ่งประเสริฐเลิศล้ำหยาบยโสกักขฬะอธรรม เหยียบย่ำทุกหย่อมหญ้าสาธารณ์ ภพหน้าอย่ามีรูปมนุษย์ จงผุดเกิดในร่างดิรัจฉาน หน้าติดดินกินขี้เลื้อยคลาน ทรมานทุกข์ร้อนร้ายนิรันดร์เอย”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้นายเชาวน์วัศโกรธเป็นอย่างมาก ได้ทำหนังสือถึงกรมการฝึกหัดครู และ กอ.รมน. ให้ย้ายอาจารย์ล้อมออกนอกพื้นที่โดยกล่าวหาว่าทำตัวเป็นปฏิปักษ์ ยุแหย่ให้แตกความสามัคคี ขัดขวางการปฏิบัติราชการ และเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เมื่อส่วนกลางสอบสวนข้อเท็จแล้วเห็นว่าอาจารย์ล้อมไม่มีความผิดจึงไม่ถูกย้ายและภาพปูนปั้นของนายทองร่วงก็ไม่ถูกทำลายแต่อย่างใด

อาจารย์ล้อม รับราชการครูอยู่ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรี ต่อมายกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏเพชรบุรี จนเกษียณอายุราชการในปี 2540 หลังจากนั้นได้ซื้อบ้านเก่าเตรียมขนย้ายไปปลูกที่บ้านเกิดตำบลควนขนุน

แต่ทว่าดวงจะต้องอยู่ที่เพชรบุรีต่อไปเนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่าอาจารย์ล้อมกำลังป่วยเป็นโรคตับและโรคไตวายเรื้อรัง ต้องอยู่รักษาด้วยการฟอกไต เป็นเหตุให้ต้องขายไม้ทรงไทยบ้านเก่าที่เตรียมไว้ให้กับ นายทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ นำไปปลูกเป็นมิวเซียมเพชรบุรีอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อตัดสินใจอยู่ที่เพชรบุรีแล้ว อาจารย์ล้อมก็ไม่ได้วางมือ หรือหยุดนิ่งต่อการทำงานยังคงใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ท้องถิ่น และประเทศชาติสืบต่อมา

ในปี 2548 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แต่งตั้งอาจารย์ล้อมให้เป็น ‘เกตุทัตศาสตราภิชาน’ ในปี 2550 ได้รับการเชิดชูเกียรติจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้เป็นหนึ่งใน ‘ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย’

ในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มอบ ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชามานุษยวิทยา ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทยหลายแขนงอย่างลึกซึ้ง

ในปี 2559 ได้รับปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ประจำปีการศึกษา 2558 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อีกทั้งยังได้รับเชิญจากหนังสือพิมพ์มติชนให้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ จัดทำพจนานุกรม ฉบับมติชน และเป็น นายกสมาคมสื่อมวลชนเพชรบุรี คนที่ 2 ต่อจาก นางประโยชน์ สุนทรวาทะ ซึ่งเป็นนายกก่อตั้งของสมาคมฯ และตำแหน่งอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ อาจารย์ล้อมยังเป็นผู้คร่ำหวอดและศึกษาหาความรู้ด้วยวิถีอย่างปราชญ์มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสาร เช่น วิทยาสาร, วิทยาจารย์, ฟ้าเมืองไทย, ฟ้า, คุรุปริทัศน์, มติชน, ศิลปวัฒนธรรม, เมืองโบราณ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, เพชรภูมิ, เพชรนิวส์ ฯลฯ

อีกทั้งยังมีผลงานรวมเล่มที่พิมพ์เผยแพร่แล้วได้แก่ พระรถนิราศ, วิวาทศิลป์, ว่ายเวิ้งวรรณคดี, ภาษาสยาม, ค้นคำ, ภูมิพื้นภาษาไทย, ดาวประจำเมืองนคร, สนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักรวาล, เสน่ห์สำนวนไทย, คู่มือพุทธประวัติ, เพราะได้เห็น จึงได้คิด และผลงานต่าง ๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดคือเกียรติประวัติ ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว “ปราชญ์ชาวบ้าน” หรือ “ปราชญ์เมืองเพชร” ที่ชาวเมืองเพชรบุรีภาคภูมิใจ