ปธ.ผู้บริหารซีพีเอฟ ยืนยัน ส่งหลักฐานทำลายซากปลาหมอคางดำ ให้กรมประมงตั้งแต่ปี 54 ที่เหลือทำลายส่งไปสวรรค์หมดแล้ว ตั้งข้อสงสัย 14 ปีผ่านไปเพิ่งมาระบาด ชี้ อาจหลุดจากตลาดปลาสวยงาม ช่วงปี 56-58 เพราะมีส่งออกปีละ 5-6 หมื่นตัว
ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวหลังร่วมพิธีลงนามความร่วมมือยกระดับคุณภาพแรงงานฟาร์มสุกรตามแนวปฏิบัติสากล (GLP) ถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ว่า ซีพีเอฟนำเข้าลูกปลาหมอคางดำมาในไทยเมื่อปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว แต่เมื่อปลามาถึงมันอ่อนเพลียเหลือรอดแค่ 600 ตัว เลี้ยงแล้วไม่ดีก็เลิกโครงการนี้ไปในช่วง ม.ค.ปี 2554 ผ่านมา 14 ปี ปลาลอตนั้นมันคงไปสวรรค์หรือไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แล้วที่มันมาระบาดตอนนี้มันจะมาเกี่ยวอะไรกับเรา แต่ในฐานะที่เราทำเกษตรเมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องดูว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง แน่นอนว่ารัฐบาลเป็นหัวหน้าทีมหลักเราแค่ช่วยเป็นตัวเสริม
ปธ.ผู้บริหารซีพีเอฟ กล่าวต่อว่า เราเป็นบริษัทใหญ่ทำอะไรก็ต้องมีขั้นตอน การนำเข้ามาเราเป็นรายเดียวที่มีเอกสารในการนำเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ไม่รู้ว่ามีใครอีกที่นำเข้าอีกบ้าง และเข้ามาเยอะแค่ไหน ปลาชนิดนี้เคยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมีการเลี้ยงเพื่อส่งออกด้วยปีละ 5-6 หมื่นตัว ยังมีคนที่เลี้ยงแล้วเบื่อเอาไปทำอะไรกันบ้างก็ไม่รู้ มันมีเป็นแสนตัว เหมือนปลาซัคเกอร์ที่คนนำมาเลี้ยงพอมันโตก็นำไปปล่อยทิ้ง ถ้าถามว่าปลาหมอมันมาจากไหนก็มาจากตรงนี้แหละ แต่เราไม่มีหลักฐาน
“เมื่อปมปลาหมอคางดำเกิดผลกระทบขึ้น ก็ต้องดูว่า ทางบริษัทฯ จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร มีประโยชน์ไหม เอามาใช้เอามากิน หรือเอาไปทำอาหารสัตว์ได้ไหม โดยในเรื่องของการรับซื้อ แล้วก็มีหลักการในการรับซื้อ อันไหนได้มาตรฐานเราก็ช่วยรับซื้อเข้ามา เพื่อช่วยลดปัญหา แต่ก็อยากเชิญชวนอุตสาหกรรม สมาคมอาหารสัตว์ มาช่วยกันเพราะมันกระทบภาคเกษตรและเศรษฐกิจ” นายประสิทธิ์ กล่าว
.
ผู้สื่อข่าวถามว่า อธิบดีกรมประมง ยืนยัน หลังซีพีเอฟยกเลิกการทำวิจัยไม่ได้ส่งซากปลา 50 ตัว ที่ใช้ในการวิจัย ให้กรมประมง นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวก็ฟังจากข่าวหลายๆ ข่าว ก็ทราบว่า ครั้งหนึ่งกรมประมงเคยถูกน้ำท่วมหลักฐานต่างๆ ก็หายไปหมด เลยไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราส่งไปแต่มันนานกว่า 10 ปีแล้ว และเรามีการบันทึกว่า ได้มีการทำลายไปหมดแล้ว และปลามันก็มีจำนวนนิดเดียวเท่านั้น ส่วนที่ ขณะนี้ ยังทำวิจัยอยู่ก็มีพวกปลานิล และปลาทับทิม ที่เรามีอยู่และทำได้ดีอยู่แล้ว ในเรื่องของทำยังไงให้ปลาทับทิมโตขึ้น แข็งแรงขึ้นมีอัตราการเลี้ยงรอดเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยม.