จากกระแสประเด็นอนุรักษ์กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง #Saveทับลาน ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางหลัง กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี-สระแก้ว 2.6 แสนไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้มีประชาชนคัดคานเต็มที่
ที่มาเพิกถอนทับลาน
อุทยานฯทับลาน ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2524 เนื้อที่ประมาณ 1,400,000 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ เมื่อปี 2548 แต่พื้นที่ ดังกล่าวมีบางส่วนทับซ้อนที่ดินของประชาชนรวมทั้งที่ของส่วนราชการ ตามที่รัฐบาลมติครม. ให้ดำเนินการมาในอดีต
กรมป่าไม้ จึงสำรวจรังวัด ฝังหลักเขต เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯทับลาน ให้ตรงตามสภาพข้อเท็จจริง ทั้งในส่วนที่มีการใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานฯ และในส่วนที่ยังคงมีสภาพป่า แต่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติแล้วเสร็จ และเป็นที่มาของแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาประกาศใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาโดยใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติฯให้เป็นไปตามแนวเส้นปี 2543
ก่อนหน้านี้ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า ปัญหาทับซ้อนที่ดินระหว่างอุทยานกับพื้นที่ชาวบ้านในพื้นที่ตรงนี้ มีมานานแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้นำมติครม. ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน แนวนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เสนอให้ครม. และมีมติ 14 มี.ค.66 เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นแนวเขตสำรวจ อุทยานฯทับลาน ปี 2543 ในการจัดทำ แผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map)
โดยแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ และจัดการพื้นที่อุทยานฯทับลาน รวมทั้งพื้นที่มรดกโลก โดยคำนึงถึงมิติทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ของอุทยาน “เรื่องนี้ผ่านการกลั่นกรองโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน-คณะกรรมนโยบายที่ดินแห่งชาติ-ครม.เห็นชอบให้ที่ดินเป็น ส.ป.ก. ซึ่งไม่ได้ตัดป่าไปเป็น ส.ป.ก. และไม่ได้มีผลต่อกระบวนการยุติธรรมที่ถูกดำเนินคดี ทั้งนี้จะมีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ครอบครองเป็นรายๆ ไป และไม่ได้เป็นบรรทัดฐานว่าอุทยานอื่นๆ จะเหมือนกัน เพราะเงื่อนไขการเข้าไปทำกินต่างกัน” นายอรรถพล กล่าว
ไม่ใช่พื้นที่ป่า แต่เป็นเมืองหมดแล้ว
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ อธิบายว่า พื้นที่ 2 แสนกว่าไร่ที่จะเพิกถอนไม่ใช่พื้นที่ป่า แต่มีชาวบ้านเข้ามาอยู่เป็นเมืองหมดแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีกฏหมายรองรับ ครั้นจะไปใช้กฏหมายอุทยานจัดการก็ไม่สามารถทำได้ หลายฝ่ายจึงพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งออกมาสั่งการ แต่มีการแก้โดยคณะกรรมการซึ่งผ่านมาหลายสิบชุด มีกรรมการเป็นร้อยคน การเพิกถอนในส่วนนี้ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้บุกรุกสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศ ซึ่งต้องดำเนินคดีต่อไป โดยการให้ที่ดินกับ ส.ป.ก. พื้นที่ยังคงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ ยังไม่มีการพูดถึงคนที่จะมาครอบครอง ซึ่งจะให้ศาลใช้ดุลยพินิจเป็นรายๆ ไป
ยืนยันว่าไม่ใช่การตัดป่า 2 แสนไร่ ที่ผ่านมาที่เราพยายามต่อสู้ก็เพื่อป่าเท่านั้น ไม่ใช่จู่ๆ เราจะไปยกป่า หรือตัดป่าให้ใครไปง่ายๆ อยู่แล้ว
มูลนิธิสืบฯ แถลงคัดค้าน
ขณะเดียวกันเหตุผลของ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่คัดค้านเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีดังต่อไปนี้
1. การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ บรรจุหัวข้อการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรที่มีอยู่ก่อนแล้วภายในเขตป่าอนุรักษ์ให้มีการจัดการได้อย่างเหมาะสม มีหลักเกณฑ์พิจารณาและคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ รวมถึงหน้าที่ของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพภายในเขตพื้นที่ดำเนินโครงการด้วย
2. การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286.58 ไร่ โดยให้กันออกและส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ ทำให้ไม่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 ที่กำหนดให้ต้องมีการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 35 ของพื้นที่ประเทศ และไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ
และสะเทือนต่อความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาราษฎรในป่าอนุรักษ์ตามมาตรา 64 ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ รวมถึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ
3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ โดยการควบคุม ป้องกัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์เดิมที่มีอยู่ และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลับสมบูรณ์ แต่กลับปล่อยให้เกิดกระบวนการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์สองแสนกว่าไร่ ซึ่งขัดต่อภารกิจหลักของหน่วยงานตนเอง
หากยังคงให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง เชื่อได้ว่ากรมอุทยานฯ ในยุคนี้จะเป็นยุคที่ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอคัดค้านการดำเนินการเพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนภารกิจหลักและหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง เพื่อรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศชาติต่อไป
อุทยานเปิดรับฟังความเห็น
ในระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 12 ก.ค.2567 กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยคำถามมีดังนี้
1. ท่านเห็นชอบการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (ONE MAP) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร
2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็น ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ อย่างไร
3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิมและจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของนายทุน
4. การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่
5. จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
6. เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือไม่ อย่างไร
7. จะส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่
โลกโซเชียลปลุกกระแส #Saveทับลาน
ล่าสุด อุทยานแห่งชาติทับลาน – Thap Lan National Park โพสต์ข้อความ ระบุว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มาอย่างยาวนาน ในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ต้องรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทาง เว็บไซต์ คลิก