“ท้าวหิรัญพนาสูร” คือใคร ทำไมขอเป็นผู้อารักขา ร.6 พระองค์ทรงแบ่งพระกระยาหาร นำไปเซ่นทุกครั้ง จนสิ้นรัชกาล พร้อมแล้วไปฟังตำนานกันค่ะ
สายมูต้องรู้ “ท้าวหิรัญพนาสูร” คือใคร สามารถขอพรในเรื่องอะไรได้บ้าง และ ท้าวหิรัญพนาสูรอยู่ที่ไหน อยากจะไหว้ต้องไปยังไง วันนี้มีคำตอบให้ค่ะ พร้อมแล้วไปฟังเรื่องเล่าตำนานความเป็นมากันก่อนเลยว่า “ท้าวหิรัญพนาสูร” คือใคร ทำไมขอเป็นผู้อารักขา ร.6 พระองค์ทรงแบ่งพระกระยาหาร นำไปเซ่นทุกครั้ง จนสิ้นรัชกาล พร้อมแล้วไปฟังตำนานกันค่ะ
“ท้าวหิรัญพนาสูร” คือใคร ? วันนี้ช่วงเจนจิราหามาเล่าจะพาไปย้อนฟังเรื่องราวนี้กันค่ะ
มีเรื่องเล่ากันว่า “ท้าวหิรัญพนาสูร” คือเทพผู้อารักขารัชกาลที่ 6 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ.126 สมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประพาส ณ มณฑลพายัพ โดยขบวนรถไฟหลวง ครั้นถึงจังหวัดนครสวรรค์ ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพระที่นั่งไปขึ้นบกที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จากนั้นพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยทรงม้าต่อไป ซึ่งในครั้งกระโน้น อุตรดิตถ์และดินแดนทางฝ่ายเหนือยังมีสภาพเป็นป่ารกชัฏ อุดมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้นานาพรรณ แลเกลื่อนกล่นด้วยส่ำสัตว์น้อยใหญ่ ไม่ปรากฏถนนหนทางดังเช่นปัจจุบัน ใช่เพียงหมู่สัตว์ร้ายและไข้ป่าที่ขึ้นชื่อลือชาว่าน่าหวาดสยองเป็นที่สุดเท่านั้น ความเงียบของไพรพฤกษ์ ความมืดครึ้มของดงดิบ ก็มีผลที่จะสั่นคลอนประสาทของผู้เป็นข้าราชบริพารที่ว่าแข็งให้หวั่นไหวได้ อย่างน่าประหลาด ภูตผีปีศาจเป็นเรื่องที่ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยมาช้านาน ไม่อาจบอกได้ว่าเริ่มมาแต่ครั้งไหน ทว่ามันยังมีอิทธิพลเรื่อยมาทุกรุ่นทุกคนจนทุกวันนี้ ผู้ตามเสด็จในขบวนทั้งหลายก็ยังมีความเชื่ออย่างนี้เช่นกัน ด้วยความวิตกในจิตใจและความบอบบางของร่างกายอย่างชาววัง จึงได้มีผู้ล้มป่วยเป็นไข้ป่าอยู่เป็นอันมาก
พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า
“ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จ ณ ที่แห่งใดๆก็ดี คงจะมีทั้งเทวดาและปีศาจฤๅอสูร อันเป็นสัมมาทิฏฐิ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกรายพระองค์และบริวารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย”
วันหนึ่งของการเดินทาง เมื่อพลบค่ำ ข้าราชการที่ตามเสด็จไปด้วยก็จัดเตรียมพลับพลาที่ประทับในป่าถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ในราตรีนั้นเอง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงสุบินนิมิตเห็นปรากฏแก่สายพระเนตร เป็นบุรุษชาติผู้หนึ่ง กอปรด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตแลกล้ามเนื้ออันล่ำสันบึกบึน มีผิวกายคล้ำเยี่ยงคนกรำแดด ที่ตัวนั้นมิได้สวมเสื้อ คงนุ่งเพียงผ้าเตี่ยวมีลายเชิงสีแดงคาดรัดเอวอย่างงดงาม ร่างกายล้วนเต็มไปด้วยอาภรณ์สูงค่าประดับองค์ บนศีรษะครอบไว้ด้วยชฎาทรงเทริดอันเป็นเครื่องบ่งถึง “ภพภูมิ” ที่ไม่ “ธรรมดา” บุรุษลึกลับผู้นั้นย่างกายมาหยุดยืนอยู่เบื้องปลายแท่นพระบรรทมแล้ว ก็ยกมือขึ้นประนม แล้วกราบบังคมทูลด้วยเสียงที่อ่อนโยนลุ่มลึกขึ้นว่า “ข้าพระพุทธเจ้าชื่อ ฮู เป็นอสูรชาวป่าซึ่งยึดมั่นอยู่ในสัมมาปฏิบัติ มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์ จะขอถวายตัวเพื่อเป็นข้าราชบริพารคอยรับใช้ และติดตามเสด็จไปด้วยทุกหนแห่งเพื่อพิทักษ์เบื้องพระยุคลบาท มิให้ภยันตรายมากร้ำกรายพระองค์”
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงสดับฟังด้วยความสุขุมอย่างเข้าพระทัยเมื่ออสูรนามว่า “ฮู” กล่าวจบลง พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสถามว่า “แล้วจะให้ข้าพเจ้าปฏิบัติอย่างไร” อสูรผู้มีป่าเป็นเรือนพักได้กราบบังคมทูลว่า “ไม่ต้องมี อะไรมาก โปรดพระราชทานที่เฉพาะให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ และแบ่งพระกระยาหารจากเครื่องเสวยของพระองค์ ก็เพียงพอแล้ว” เมื่อจบ การสนทนา อสูรชาวป่าก็ถวายบังคมลาอันตรธานไปจากพลับพลาที่ประทับในราตรีนั้น ครั้นอรุณรุ่ง พระองค์ก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยอยู่ในพระราชหฤทัยอยู่เพียงพระองค์เดียวว่า
เมื่อคืนนั้นจักทรงพระสุบินไปโดยธรรมดาของธาตุขันธุ์ หรือเป็น“เทพนิมิต” ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน บรรดาข้าราชบริพารทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นไข้ป่ากันงอมแงมก็พากันหายจากอาการ เจ็บป่วยโดยสิ้นเชิง และผู้ที่ไม่เคยเป็นก็พากันรอดพ้นจากไข้ป่าแลภัยทั้งหลายทั้งปวง เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ดูเป็นการสมจริงดังคำอ้างของบุรุษผู้มีที่มาอันพิสดารได้กล่าวรับรองไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ประดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปด้วย ก็เกิดพบเห็นชายรูปร่างใหญ่โตน่าเกรงขามคนหนึ่งมักยืนหรือนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ใกล้ ๆ ที่ประทับของพระองค์เสมอ ๆ บางครั้งก็เห็นเพียงคนเดียว แต่บางครั้งก็พากันเห็นพร้อมกันหลายคน ทำเอาข้าราชบริพารทั้งนั้นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอกสั่นขวัญแขวน เพราะในกลุ่มผู้ที่ตามเสด็จทั้งหลายไม่มีชายรูปร่างหน้าตาอย่างนี้มาด้วยเลย เมื่อความข้อนี้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ จึงทรงมีพระราชดำรัสให้จัดธูปเทียนและเครื่องโภชนาการเลิศรสไปสังเวยที่ริมป่าละเมาะใกล้กับพลับพลาที่ประทับนั้น เวลาเสวยก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระกระยาหารจาก “เครื่องต้น” ไปเซ่นสรวงเสมอ และได้ถือเป็นพระราชกรณียกิจจนกระทั่งสิ้นรัชกาล
ด้วยเหตุ ดังกล่าวการเสด็จประพาสในคราวต่อๆ มาข้าราชบริพารจึงทำพิธีอัญเชิญเทพาสูรที่ปรากฏในนิมิตตามเสด็จไปด้วยทุก ครั้ง และมีผู้คนมากมายพบเห็นบุรุษในลักษณาการอย่างโบราณ รูปร่างสูงใหญ่ นั่งบ้าง ยืนบ้าง ตามขบวนเสด็จไปด้วยเป็นอันมาก จนข่าวคราวร่ำลือถึงข้าหลวงมณฑลเทศาภิบาลต่างๆ ทำให้ผู้คนเลื่อมใส เคารพท้าวหิรัญพนาสูรกันแต่ครั้งนั้น และโปรดให้หล่อรูปท่านท้าวประดิษฐานไว้ประจำพระราชวังพญาไท “รูปท้าวหิรัญพนาสูร” จึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนเคารพกราบไหว้ให้ป้องกันภยันตราย ให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในกิจการงานต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คาถาบูชาท้าวหิรัญพนาสูร
- (จุดธูป 16 ดอก) ตั้งนะโม 3 จบ
- ระหินะ ภูมาสี ภะสะติ นิรันตะรัง ลาภะสุขัง ภะวันตุเม (สวด 9 จบ )
ปัจจุบันรูปหล่อองค์ท้าวหิรัญพนาสูรตั้งอยู่ภายในศาลบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใกล้กับพระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ทั้งนี้แล้วหลายคนมักจะขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย และอีกเรื่องคือขอให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ